วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การจับไม้แบดมินตัน

เอกสารประกอบการเรียน
                                                                    การจับไม้แร็กเกต

                   1.  หลักทั่วไปในการจับไม้แร็กเกต
                                   กำเนิด   สุภัณวงษ์  (2537 : 10)   ได้กล่าวถึงวิธีการจับไม้แร็กเกตที่นิยมกันมี  2 แบบคือ แบบเช็คแฮนด์ และแบบวีเชพ การจับไม้แบบเช็คแฮนด์ เหมาะสำหรับการตีลูกหน้ามือ (Fore Hand) จนถึงลูกอ้อมศีรษะ (Over Head) ลูกขนไก่จะกระทบหน้าไม้เป็นมุมฉาก แรงที่ใช้ตีลูกหลังมือ  (Back Hand) สามารถปรับนิ้วเพื่อช่วยให้การตีลูกได้แรงขึ้นโดยขยับนิ้วชี้ลงไปชิดกับนิ้วกลางแล้วยื่นนิ้วหัวแม่มือกดลงที่สันเล็กของด้าม  นิ้วหัวแม่มือจะช่วยส่งแรงทำให้ตีลูกหลังมือได้แรงขึ้นกว่าการใช้ข้อมือเพียงอย่างเดียว   การตีหลังมือโดยวิธีนี้จะด้อยกว่าการตีโดยการจับไม้แบบวีเชพเล็กน้อย สมมุติการตีหลังมือโดยการจับไม้แบบวีเชพได้คะแนนเต็ม 10  คะแนน  การจับไม้แบบเช็คแฮนด์และใช้     หัวแม่มือช่วยจะได้คะแนนประมาณ  8  คะแนน
                                   การจับไม้แบบวีเชพ  เหมาะสำหรับการตีลูกหลังมือ  โดยที่นิ้วหัวแม่มือจะกดอยู่ที่ สันใหญ่ของด้ามในการตีลูกหน้ามือการจับไม้แบบวีเชพไม่สามารถปรับหน้าไม้ให้ตั้งฉากกับลูกขนไก่ได้  ลูกขนไก่จะทำมุมกับหน้าไม้ประมาณ 45 องศา   ซึ่งทำให้แรงที่ใช้ในการตีลูกได้ประโยชน์เพียงครึ่งเดียว และวิถีของลูกขนไก่จะไม่ตรงหรือที่เราเรียกกันว่าลูกไซด์  ลูกตบของนักกีฬาที่จับไม้       แบบวีเชพจะมีเสียงดังน่าเกรงขามมาก แต่ลูกขนไก่วิ่งค่อนข้างช้าเมื่อเปรียบกับการตบโดยจับไม้    แบบเช็คแฮนด์  นอกจากนั้นยังทำให้ลูกขนไก่เสียหายง่าย โดยขนจะหักหรือบี้ จากการตบเพียง 2-3 ครั้ง ซึ่งทำให้เกิดความสิ้นเปลืองเป็นอย่างมากในการฝึกซ้อม
                                   ในการเริ่มฝึกหัดเล่นแบดมินตันจะเริ่มด้วยการตีลูกหน้ามือก่อน   ดังนั้นควรที่จะเริ่มด้วยการจับไม้แบบเช็คแฮนด์ เมื่อฝึกหัดตีลูกหลังมือจึงสอนให้เลือกว่าจะคงรูปการจับไม้แบบเช็คแฮนด์ไว้ และช่วยในการตีลูกหลังมือโดยการปรับนิ้วชี้ และนิ้วหัวแม่มือหรือปรับไปจับไม้แบบวีเชพใน    การตีลูกหลังมือ และปรับมาจับไม้แบบเช็คแฮนด์เมื่อตีลูกหน้ามือ  ซึ่งวิธีการจับไม้แร็กเกตที่ถูกต้องและนิยมมี 2  แบบคือ
                                   1.1  การจับแบบเช็คแฮนด์   ใช้มือซ้ายจับที่คอไม้แร็กเกตก่อนวางฝ่ามือขวาลงบนด้ามไม้แร็กเกต แล้วจึงค่อยๆ ลากมือลงมาเรื่อย ๆ จนนิ้วก้อยหยุดที่ปลายด้ามแล้วกำทั้ง 4  นิ้วรอบ ๆ ด้ามไม้แร็กเกตส่วนนิ้วหัวแม่มือจะอยู่ทางด้านแบนอีกด้านหนึ่งของไม้แร็กเกตคล้ายการสัมผัสมือ
1.2      การจับแบบวีเชพ  ธนะรัตน์  หงส์เจริญ (2537 : 43) ได้อธิบายวิธีการจับ
ไม้แร็กเกตแบบวีเชพไว้ว่า  ยกมือข้างที่ถนัดขึ้นมาแล้วกางนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ออก เป็นรูปตัววีแล้วสอดด้ามไม้แร็กเกตเข้าไปในช่องรูปตัววีใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้คีบทางด้านแบนของด้ามไม้แร็กเกตไว้ เมื่อจับถูกต้องหัวไม้แร็กเกตด้านที่เป็นสันจะอยู่ตรงกลางร่องตัววีพอดี จากนั้นนิ้วที่เหลือทั้ง 3 นิ้ว       กำด้ามไม้แร็กเกตเข้ามาโดยกำให้สุดด้าม   ปลายด้ามจะอยู่ในอุ้งมือ ใช้นิ้วชี้ล็อกทางส่วนโค้งของ    ด้ามไม้แร็กเกตเอาไว้ เมื่อจับด้ามไม้แร็กเกตเรียบร้อยสังเกตจะเห็นว่านิ้วชี้ไม่ติดกับนิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อยที่เรียงติดกันเป็นมุม 45 องศา ส่วนนิ้วหัวแม่มือจะวางทาบอยู่ด้านแบนของด้ามไม้แร็กเกต
 ธนะรัตน์  หงส์เจริญ  (2537 : 44)  ได้เสนอแนะหลักทั่วไปในการจับไม้แร็กเกต
  ดังต่อไปนี้
                                        1)  ไม่จับไม้แร็กเกตจนแน่นเกินไปกระชับมือเพียงให้อยู่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดในการตีหากจับไม้แร็กเกตแน่นจนเกินไปจะทำให้เกิดอาการเกร็งในส่วนของแขนและไม่สามารถตีและบังคับลูกขนไก่ไปยังเป้าหมายด้วยการใช้นิ้วและข้อมือได้ถนัดกลายเป็นการใช้แขน
มากกว่าเพราะหลักการเล่นแบดมินตันต้องใช้นิ้วมือและข้อมือในการตีลูกขนไก่บังคับไปยังเป้าหมายด้วยความรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งจะทำได้ดีและง่ายกว่าการใช้แขน
                                         2)  เมื่อจับด้ามไม้แร็กเกตไว้อย่างถูกต้องแล้วสามารถที่จะใช้ไม้แร็กเกตนั้นได้เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของแขน
                                     อย่างไรก็ตามควรได้ทราบถึงวิธีการจับไม้แร็กเกตที่ไม่ถูกต้องไว้ด้วยเพื่อเป็นข้อเปรียบเทียบที่พบเห็นมีอยู่ 2 วิธีคือ
                                      @  การจับไม้แร็กเกตแบบหน้าเดียว ซึ่งข้อแตกต่างของการจับไม้แร็กเกตแบบนี้กับการจับแบบวีเชพ  คือนิ้วหัวแม่มือจับอยู่ตรงสันทำให้ไม่สามารถตีลูกขนไก่ได้ทั้ง 2 หน้า คงตีได้เพียงหน้าเดียวเฉพาะหน้ามือเท่านั้นส่วนด้านหลังมือไม่สามารถตีได้เลย
                                     @  การจับไม้แร็กเกตแบบรวมนิ้วหรือแบบกำค้อน  คือการจับไม้แร็กเกตแบบนี้จะใช้นิ้วทั้งห้าจับที่บริเวณด้ามไม้แร็กเกตในลักษณะที่กำแน่นรวมนิ้วทั้งห้าติดกัน ทำให้ไม่สามารถใช้นิ้วและข้อมือในการตีลูกขนไก่อย่างถูกต้องตามหลักการของกีฬาแบดมินตัน
                                    สำหรับข้อเสียของการจับไม้แร็กเกตที่ไม่ถูกวิธีทั้ง 2 แบบที่กล่าวข้างต้นแล้วนั้น โอกาสที่ตัวนักกีฬาจะพัฒนาเป็นผู้เล่นที่ดีต่อไปในอนาคตได้นั้นเป็นเรื่องยากเพราะมีจุดอ่อนอยู่มากและการแก้ไขก็ทำได้ยากเช่นเดียวกัน เนื่องจากเกิดความเคยชินเสียแล้ว
 2.   เทคนิคในการจับไม้แร็กเกต
                                  กำเนิด  สุภัณวงษ์  (2537:10)  ได้เสนอแนะเทคนิคในการจับไม้แร็กเกตไว้ดังต่อไปนี้
นอกจากการจับไม้แร็กเกตแบบเช็คแฮนด์และวีเชพแล้วในแต่ละแบบยังอาจแบ่งเป็น
                                  2.1   การจับไม้แร็กเกตแบบสั้น (จับที่โคนด้ามทำให้เหลือส่วนที่ใช้ตีสั้น)มีข้อดีคือสามารถควบคุมไม้แร็กเกตได้ดี   เพราะไม้สั้นลงทำให้รู้สึกเบาเหมาะสำหรับการเล่นลูกหน้าตาข่าย สามารถควบคุมลูกได้แม่นยำ แต่จะมีข้อเสีย คือ ตบลูกไม่รุนแรง มีผู้เริ่มเล่นจำนวนมากจับไม้แร็กเกตแบบสั้นช่วยให้ตีเป็นเร็ว แต่ถ้าไม่เปลี่ยนจับให้ยาวขึ้นกว่าเดิมเขาจะมีจุดอ่อนที่ตบลูกได้ไม่รุนแรง       คู่ต่อสู้จะโยนลูกให้ตบโดยไม่เกรงกลัว
2.2  การจับไม้แร็กเกตแบบยาว (จับที่ปลายด้ามให้เหลือส่วนที่ใช้ตียาว) มีข้อดีคือมี
การตบลูกที่รุนแรงการตีลูกไกลถึงหลังซึ่งจะเสียแรงน้อย ข้อเสียคือ จะเล่นลูกหน้าตาข่ายไม่ค่อยดี นักกีฬาที่จับไม้แร็กเกตแบบยาวมักจะเป็นผู้ที่เคยจับไม้แร็กเกตแบบปานกลางมาก่อน และมาพบว่า   การจับไม้แร็กเกตแบบยาวช่วยให้ตบลูกได้รุนแรงดี
2.3      การจับไม้แร็กเกตแบบปานกลาง  นักกีฬาส่วนใหญ่จะจับไม้แร็กเกตแบบนี้
เพราะไม่มีข้อเสียเด่นชัด สามารถเล่นได้ทุกลูกดีพอสมควร ผู้เล่นบางคนที่มีพรสวรรค์เปลี่ยนวิธี        จับไม้แร็กเกตให้เหมาะกับการตีลูกแต่ละลูก คือตีลูกแบบหน้ามือจับแบบเช็คแฮนด์  ตีลูกแบบหลังมือจับแบบวีเชพ   ลูกตบท้ายสนามจับไม้ยาวแบบเช็คแฮนด์  และเมื่อเข้าเล่นหน้าตาข่ายจะจับไม้สั้นแบบวีเชพหรือเช็คแฮนด์
นักกีฬาแบดมินตันที่มีความรู้ในการจับไม้แร็กเกตสามารถนำไปแก้ไขการตีลูกให้ดี
ยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังสามารถประเมินความสามารถคู่แข่งขันได้ โดยการดูว่าเขาจับไม้แร็กเกตแบบใด เช่น ถ้าคู่แข่งขันจับไม้แร็กเกตแบบวีเชพ และจับไม้สั้นเขาควรจะเล่นลูกหน้าตาข่ายได้ดี ส่วนลูกท้ายสนามจะไม่ค่อยมีพิษสง ลูกตบจะเบาตีลูกโต้ถึงหลังก็เสียแรงมากจึงควรเล่นลูกท้ายสนามกับเขาเป็นส่วนใหญ่    คู่แข่งขันที่น่าเกรงขามมากที่สุด คือ  ผู้ที่ปรับการจับไม้แร็กเกตให้เหมาะสมกับการตีลูกแต่ละลูก แต่ผู้เล่นที่สามารถทำได้เช่นนี้มีจำนวนค่อนข้างน้อย

                 3.  การบังคับไม้แร็กเกต
                                 3.1  การใช้ข้อมือ วาสนา  คุณาอภิสิทธิ์ (2546 : 27) ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของการใช้ข้อมือสำหรับนักกีฬาแบดมินตันไว้ว่า ข้อมือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเล่นแบดมินตันมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าใช้ข้อมือได้ถูกต้องเพียงอย่างเดียวแล้วจะทำให้ทิศทางการพุ่งของลูกดีเท่านั้น  การจะตีให้ดีที่สุดต้องอาศัยการก้าวเท้า (Pace) กำลัง (Power) และการหลอกล่อ (Deception) ประกอบกันไปด้วย   ผู้เล่นจะสามารถเคลื่อนไหวข้อมือได้ดีในลักษณะทำมุม 90 องศากับแขนในขณะหักข้อมือไปข้างหน้าและทำมุม 45 องศาในขณะหักกลับไปข้างหลังการใช้แรงข้อมือจะทำให้สามารถตีลูกต่าง ๆ ได้เร็วและไกลตามต้องการ

3.2  เทคนิคการใช้ข้อมือ
                                        @ ก่อนการตีลูกทุกครั้งจะต้องหักข้อมือไปข้างหลังเสียก่อนไม่ว่าจะตีลูกในลักษณะใดก็ตาม
                                        @ ความเร็วของการสะบัดหรือหักข้อมือนั้นขึ้นอยู่กับความเร็วของการสวิงแขน แต่ไม่จำเป็นต้องหักข้อมือไว้ก่อนการสวิงแขนและการเคลื่อนที่
                                         @ ข้อมือเป็นส่วนสุดท้ายก่อนการสวิงไม้แร็กเกต ถ้าฝึกได้ดีสามารถหลอกล่อฝ่ายตรงข้ามได้ด้วยการเปลี่ยนทิศทางของลูกตามการหมุนข้อมือ
                                         @ ข้อมือที่แข็งแรงและยืดหยุ่นได้ดีนั้น สามารถฝึกได้และถ้าทำได้จะมีผล
ทำให้ตีได้ดีขึ้นอีก
                                การทดสอบว่าได้ใช้แรงข้อมือหรือไม่ ให้ผู้ตีหลับตาแล้วตีแบบหักข้อมือ กับไม่    หักข้อมือเปรียบเทียบกัน จะได้ยินเสียงแตกต่างกัน ถ้าเสียงดังมากแสดงว่าใช้ข้อมือมาก ฉะนั้นใน     การตีลูกทุกครั้งจะต้องคิดเสมอว่าเราใช้ข้อมือเต็มที่หรือไม่


 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น